ตัวเรือนแหวนหมั้น

เมื่อนึกถึงแหวนหมั้น หลายๆ คนมักจะนึกไปถึงภาพเพชรเม็ดเดี่ยวบนตัวเรือนเรียบง่าย สีขาว  ด้วยรูปแบบในการนำเสนอที่เรียบเพื่อเน้นความเด่นของเม็ดกลางให้ดูสง่า ก้านเรียบๆ สะท้อนถึงความสมดุลย์ของทั้งสองข้างในการโอบรับเพชรเม็ดกลาง ลักษณะด้านข้างเปิดโปร่ง เพื่อเพิ่มช่องให้แสงส่องผ่านเพชรได้สะดวก  

ความเรียบง่ายบนความเรียบง่าย มักสร้างให้เกิดความสะดุดตา สำหรับคนที่ใส่ใจ ในการดูรายละเอียด ตัวเรือนแหวนหมั้นที่เรียบ ๆ บนนิ้วเจ้าของบ่งบอกความเป็นไป ของความสบายๆ ที่ดูเมื่อไรก็ไม่เบื่อ อาจเพราะเจ้าแหวนหมั้นวงนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ ชีวิตประจำวัน  หรืออาจเพราะประกายความงามกับภาพความทรงจำที่พอนึกถึงเมื่อไร เป็นต้องอมยิ้มทุกครั้งไป

คงด้วยเหตุผลนี้กระมังที่ทำให้ แบบแหวนหมั้นเรียบ ๆเป็นที่นิยมข้ามยุคข้ามสมัย จะแตกต่างกันบ้างก็ที่สีของเนื้อตัวเรือน บางยุคนิยมชมชอบ เรือนสีทองเข้มๆ บางยุคเป็นสีทองอ่อนๆ บางยุคนิยมเรือนขาว ลองมาดูความแตกต่างของตัวเรือนกับเกร็ดเล็กๆ ในการเลือกเพชรบนตัวเรือน แต่ละชนิดกันนะค่ะ

ตัวเรือนสีทองที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปก็มี ทองคำ 90% กับ ทองคำ18k ส่วนตัวเรือนสีขาวที่นิยมกันได้แก่ ทองคำขาว 18k  และแพลตินั่ม 

เรือนทอง 90% ในความเป็นจริง ทองยิ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่สูง ยิ่งนิ่ม นั่นแปลว่ารูปทรงของตัวแหวน แทนที่จะแลดูกลม อย่างที่เห็นเมื่อซื้อมาครั้งแรก พอนานวัน กลับสามารถเปลี่ยนรูปร่าง ได้ตามแรงกระแทก แต่ด้วยสีทองที่ดูเข้มสด แหวนทอง 90% จึงเป็นที่เข้าตา เข้าใจใครหลายๆคน และหากคุณเป็นหนึ่งในหลาย ๆ คนนั้น ก็อยากจะขอแนะนำว่า ควรเลือกรูปแบบของตัวเรือน ที่มีความหนาของก้าน โดยเฉพาะด้านล่างบริเวณ ที่รับแรงกระแทก เพื่อความคงทนในการใช้งาน

 

เรือนทอง 18k   แม้สีของเนื้อทองจะไม่ดูสดอย่างทอง 90% แต่ความคงทนในการใช้งาน กับสีทองจืดที่ดูไม่สะดุดตานัก กลับเป็นที่นิยมของคู่แต่งงานที่มีวิถีการดำเนินชีวิต และกิจกรรมที่ชอบงานอดิเรกกลางแจ้ง เรือนทองนี้เหมาะนักกับการใช้งานสมบุกสมบัน

ในการส่งเรือนทอง 18k นี้ออกไปขายในต่างประเทศ  ร้านค้ามักจะตีตราเปอร์เซ็นต์ทองไว้ที่ด้านในของวงแหวน ด้วยตัวเลข 750 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ ที่มีความหมายว่า มีเนื่อทองผสมอยู่ 75% ส่วนอีก 25% ที่เหลือเป็นโลหะมีค่าชนิดอื่นที่ผสมลงไป เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวเรือนและ 25% นี่เองที่เป็นตัวกำหนดสีของตัวเรือนเมื่อเสร็จ 

การใส่ส่วนผสมที่ต่างสัดส่วน กันออกไป สามารถทำให้ เนื้อทองก้อนนั้นๆ มีสีขาว (white gold) สีทอง (yellow gold) หรือ กระทั่งสีชมพู (pink gold) อย่างที่เห็นบ่อย ๆ ตามแม็กกาซีนต่างชาติ สีของทองที่ได้มาจากวิธีการข้างต้น เป็นสีที่อยู่ติดทนกับตัวเรือน แม้จะผ่านการใช้งาน ไปเป็นเวลานานก็ตาม ผิดกับการเอาเนื้อแหวนสีทอง มาชุบเคลือบสีขาว เฉพาะด้านนอก เพราะแบบหลังนี้ เมื่อผ่าน การใช้งานไปได้เพียงระยะเดียว ส่วนที่เคลือบก็จะหลุดออก ทำให้ยุ่งยาก ต้องกลับ ไปเคลือบใหม่เป็นกิจวัตร

Visitors: 113,632