สี ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อเพชร

 

 

ผู้คนโดยทั่วไปมักเข้าใจผิดคิดว่า “อัญมณีสีขาว” ก็คือ

เพชรและเพชรต้องเป็นสีขาวเท่านั้น โดยไม่คิดว่าเพชรจะมีสีอื่น ๆ ด้วย

            ส่วนอัญมณีที่เป็นสีอื่นๆ ก็คิดว่าเป็นพวกพลอยสี (Colored Stone) ที่ไม่ใช่เพชร หากเป็นอัญมณีสีแดงก็มักเข้าใจว่าเป็นทับทิม (Ruby) ถ้าเป็นอัญมณีสีเหลืองก็คิดว่าเป็นบุษราคัม (Yellow Sapphire) และหากเป็นอัญมณีสีน้ำเงินก็เข้าใจว่าเป็นไพลิน (Blue Sapphire) เป็นต้น

            ในความเป็นจริงแล้วอัญมณีสีขาวตามธรรมชาตินั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ซึ่งถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ต้องเรียกว่า “ไร้สี”(Colorless) ตัวอย่างเช่น แซปไฟร์ไร้สี (Colorless Sapphire), โทปาสไร้สี (Colorless Topaz) และเขี้ยวหนุมานไร้สี (Colorless Quartz) เป็นต้น

            ซึ่งพ่อค้าบางคนจะเรียกเขี้ยวหนุมานไร้สีว่า “เพชรเขาพระงาม” เพราะมีลักษณะสีแบบไร้สีเช่นเดียวกับเพชร และมีการขุดพบเขี้ยวหนุมานไร้สีที่ตำบลเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี จึงตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกับเพชร

            แต่หากพิจารณาดีๆ จะพบว่าปริมาณประกายหรือความระยิบระยับของอัญมณีแต่ละชนิดนั้นมีความแตกต่างกัน โดยหากนำอัญมณีเหล่านี้มาวางเปรียบเทียบกัน จะเห็นว่าเพชรมีความเป็นประกายระยิบระยับมากกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ

            สำหรับเพชรสีนั้นก็จะมีอยู่ด้วยกันหลายสี ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำตาล สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีฟ้า สีเทา หรือสีดำ แต่เนื่องจากเพชรสีมักจะปรากฎให้เห็นในตลาดได้ไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปริมาณเพชรไร้สีที่มีอยู่อย่างดาษดื่นในท้องตลาด เพชรสีจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย หากแต่เป็นที่ต้องการของผู้นิยมการซื้ออัญมณีเพื่อการสะสมหรือเพื่อความแตกต่างและมักจะเรียกเพชรสีว่า “สีแฟนซี”

            เหตุที่เพชรไร้สีได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไปอย่างกว้างขวางก็เป็นเพราะเพชรไร้สีเป็นที่รู้จักของผู้คนมาตั้งแต่ก่อนคริสตกาลเกือบหนึ่งพันปี เพชรไร้สีสามารถพบเห็นได้ง่ายกว่าเพชรสีแฟนซี และมีการผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก มีสนับสนุนส่งเสริมการค้าขายกันอย่างเป็นระบบเพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีการจัดทำรายงานราคาซื้อขายในตลาดโลกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการซื้อขาย อีกทั้งยังมีการจัดทำมาตรฐานระดับสีจากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วโลก เกิดความสะดวกคล่องตัวเพราะมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ ส่งผลให้เกิดการซื้อขายที่เป็นธรรมทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขาย

            การจัดทำมาตรฐานสีของเพชรไร้สีนั้นกระทำได้ง่ายกว่าเพชรสีแฟนซีมาก เนื่องจากเพชรสีแฟนซีมีสีที่มีความแตกต่างและหลากหลาย มีองค์ประกอบสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาจัดระบบหลายองค์ประกอบ และแต่ละองค์ประกอบก็ยากต่อการจัดให้เป็นมาตรฐาน

            ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดค่ามาตรฐานของระดับความอ่อน – เข้มของสี (Tone) เช่น สีน้ำเงิน มีความเข้มตั้งแต่ฟ้าอ่อนจนถึงน้ำเงินเข้มจนเกือบดำ การกำหนดค่าความกว้างของเฉดสี (Hue) เช่น สีแดงก็มีเฉดสีตั้งแต่แดงอมม่วง แดงอมชมพู แดงอมส้ม เป็นต้น อีกทั้งยังต้องกำหนดค่าความอิ่มตัว (ความสด) ของสี (Saturation) ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนเป็นอย่างมาก

            ในปัจจุบันแม้จะมีความพยายามในการจัดระดับมาตรฐานสีของเพชรสีแฟนซีขึ้น แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เพราะวัตถุดิบที่จะนำมาจัดทำเป็นตัวอย่างมาตรฐานหาได้ค่อนข้างยากมาก และยังจะต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ อีกมากมายทั้งทางวิชาการและทางการค้าเพื่อให้เกิดมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับของทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง

            ในขณะนี้การประเมินคุณภาพเพชรสีแฟนซีจึงยังไม่สามารถกระทำได้อย่างครบถ้วน ยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนแน่นอน ส่งผลให้ความพยายามในการกำหนดราคามาตรฐานของเพชรสีแฟนซีไม่สามารถเป็นไปได้เช่นกัน ณ ปัจจุบันราคาของเพชรสีแฟนซีจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นประการสำคัญ

            การเลือกซื้อเพชรสีแฟนซีที่มีคุณภาพจะต้องเน้นที่ความเข้มของสี ซึ่งควรจะมีความเข้มมาก แต่ต้องไม่ถึงกับมืดดำและควรมีความสดของสีที่ดี

            กรณีเพชรสีน้ำตาล, น้ำตาลอมเหลือง, และน้ำตาลอมส้ม หรือที่ทางการค้าอาจจะเรียกว่าสีคอนยัค (Cognac), สีแชมเปญ (Champagne) นับเป็นเพชรสีที่มีมูลค่าน้อยกว่าเพชรสีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง, สีชมพู, สีน้ำเงิน หรือสีเขียว

            ขณะที่การจัดระดับคุณภาพเพชรสีขาวนั้นได้มีการกำหนดออกมาเป็นมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับของผู้คนที่เกี่ยวข้องทั่วโลก แม้ว่าจะมีหลายองค์กรได้นำเสนอรูปแบบชื่อเรียกระดับคุณภาพสีที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่แตกต่างกันในแง่ของระบบการจัดคุณภาพ

 

ระบบการจัดระดับคุณภาพเพชรสีขาว (ไร้สี)

            ระบบการจัดระดับคุณภาพเพชรสีขาวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในขณะนี้เป็นสีของสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งอเมริกา (GIA – Gemological Institute of America) ซึ่งเป็นองค์กรด้านอัญมณีศาสตร์    ชั้นนำของโลก เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และมีบทบาทสำคัญในการศึกษาค้นคว้าวิจัยศาสตร์ด้านอัญมณีเป็นอย่างมาก

            GIA ได้สร้างระบบการเรียกชื่อระดับสีของเพชรไร้สีในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจและการจดจำ ทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลของอุตสาหกรรมการค้าเพชร

            GIA ได้แบ่งระดับสีของเพชรไร้สีโดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษเป็นสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย

            เริ่มจากคุณภาพสีที่ดีที่สุดคือไม่มีสี (Colorless) โดยใช้ตัวอักษร “D” ซึ่งนับว่าเป็นระดับสีที่มีคุณค่าสูงสุด เพราะไม่มีสีอื่นใดมาปนเปื้อนเลย

            ระดับรองลงมาก็ใช้ตัวอักษร “E…F…G…” เพื่อสื่อถึงระดับสีที่เริ่มมีสีอื่นเข้าเจือปนจากที่มีสีออกเหลืองอ่อนมาก ๆ ระดับ “H” จนกระทั่งระดับสีออกเหลืองอ่อน (Pale Yellow) อย่างเห็นได้ชัดคือ อักษร “N”

            และหากเป็นตัวอักษรถัดไปคือตัวอักษร “O” ถึง ตัวอักษร “Z” จะเห็นเป็นสีเหลืองนวลจนเป็นสีเหลือง

 

ตารางเปรียบเทียบระบบของ GIA กับความหมายที่เคยใช้ในตลาด 

 

GIA

Grades

Traditional

Terms

Descriptive

Terms

Descriptive

Terms

D

River

Rarest White

White

E

F

Top

Wesselton

Rare White

G

H

Wesselton

White

I

Top Crystal

Slightly Tinted

White

Slightly Tinted

White

J

Crystal

K

Top Cape

Tinted White

Tinted White

L

M

Cape

Slightly

Yellowish

Tinted Colour

N

O

Light Yellow

Yellowish

P

Q

R

S – Z

Yellow

Yellow

 

ตารางเปรียบเทียบระดับสีของ GIA กับ HRD

 

Colour

D

exe. white+

E

exe. white

F

rare white+

G

rare white+

H

white

I

slightly tined white

J

slightly tined white

K

tined white

L

tined white

M

tined colour

N - O

tined colour

P - R

tined colour

S - Z

tined colour

 

            แต่สำหรับคนไทยจะเรียกสีของเพชรว่า “น้ำ” ซึ่งบางครั้งบางคนก็ไปปะปนใช้กับความหมายเกี่ยวกับคุณภาพของความสะอาด อันเป็นปัจจัยที่สองในการประเมินคุณภาพว่าลักษณะเนื้อเพชรมีความใสสะอาด ไร้มลทินหรือตำหนิแปลกปลอมอยู่ภายในมากน้อยเพียงใด

            ในที่นี้จะเทียบเคียงระดับสีเรียกของไทยกับระบบของ GIA ได้ดังนี้

                  น้ำ    100  เท่ากับอักษร D

                  น้ำ    99    เท่ากับอักษร E

                  น้ำ    98    เท่ากับอักษร F

                  น้ำ    97    เท่ากับอักษร G

                  น้ำ    96    เท่ากับอักษร H

                  น้ำ    95    เท่ากับอักษร I

 

ตารางเปรียบเทียบระบบของ GIA กับระบบของคนไทย 

 

D

E

F

G

H

I

J

K

L

M

100

99

98

97

96

95

94

93

92

91

 

Visitors: 136,283