การพิจารณาในเรื่องสี (Color)
เฉดสี (Hue) หมายถึง ลักษณะของสีที่ปรากฏให้เห็น เช่น ทับทิม มีเฉดสีแดง, แดงอมม่วง, แดงอมส้ม, แดงอมชมพู, ไพลินมีเฉดสีน้ำเงิน, น้ำเงินอมเขียว, น้ำเงินอมเทา เป็นต้น ความงามของเฉดสีขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล
โทนสี (Tone) ความเข้มและความอ่อนของสีอัญมณีทำให้อัญมณีดูมืดหรือดูสว่าง โดยปกติแล้วอัญมณีที่มีโทนสีเข้มและโทนสีปานกลาง จะมีมูลค่ามากกกว่าอัญมณีที่มีโทนสีเข้มจนมืดดำ หรือที่มีโทนสีอ่อนจนขาว เช่น โทนสีน้ำเงินดำ, โทนสีน้ำเงิน, โทนสีฟ้า, โทนสีฟ้าอ่อน เป็นต้น
ความสดของสี (Saturation) อัญมณีที่มีความสดมากจะเป็นที่ต้องการมากกว่าอัญมณีที่มีสีซีด
ความสม่ำเสมอของสี (Zoning) อัญมณีที่มีสีเต็มทั่วทั้งเม็ดจึงจะถือว่ามีมูลค่าและเป็นที่ต้องการมากกว่าอัญมณีที่มีสีเป็นหย่อม
การพิจารณาในเรืองความสะอาด (Clarity)
อัญมณีที่สวยงามมากจะต้องมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในเนื้ออัญมณีด้วยตาเปล่าหรือร่องรอยแตกบิ่นที่อยู่บริเวณผิวของอัญมณี
ลักษณะตำหนิที่พบเห็นภายในอัญมณีโดยทั่วไป ซึ่งเป็นอัญมณีลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ทำให้นักอัญมณีศาสตร์สามารถใช้เป็นหลักฐานในการวิเคราะห์ว่าเป็นอัญมณีธรรมชาติ หรืออัญมณีสังเคราะห์ หรือัญมณีธรรมชาติที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ได้แก่ ผลึกรูปทรงต่างๆ, ของเหลว, รอยแตกร้าวภายในถ้าอัญมณีมีตำหนิภายในมากก็จะทำให้ความสวยงามที่เกิดจากประกายแสงลดลง เพราะตำหนิเหล่านี้จะไปบดบังการสะท้อนของแสงภายในอัญมณี
อัญมณีที่โดยธรรมชาติจะมีตำหนิภายในเป็นจำนวนมากโดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ได้แก่ มรกต, ทับทิม, ทัวร์มาลีน, พลอยพรรณราย, ควอตซ์สีกุหลาบ, ฟลูออไรต์ ส่วนอัญมณีที่เหลือจะมองเห็นตำหนิภายในได้ก็โดยการมองผ่านเลนสำลังขยาย 10 เท่า
ลักษณะตำหนิภายนอกที่อาจพบเห็น ได้แก่ รอยแตก, รอยบิ่น, รอยสึก, รู, ร่องรอยธรรมชาติ
การพิจารณาในเรืองการเจียระไน (Cutting)
ผู้คนในสมัยโบราณเมื่อนำอัญมณีมาประดับสวมใส่ก็จะนำมาร้อยหรือตกแต่ง โดยจะไม่ได้มีการเจียระไนเหลี่ยมแต่อย่างใด เป็นเพียงผลึกอัญมณีที่มีสีสันรูปทรงและความเงาวาวตามธรรมชาติแต่ในปัจจุบันได้มีการนำผลึกอัญมณีมาทำการเจียระไนเพื่อให้ได้รูปทรงและเหลี่ยมมุมตามต้องจิตนาการ ก่อนจะนำมาประดับไว้บนตัวเรือนที่ทำจากโลหะมีค่า เช่น ทองคำ, แพลตินัมและเงิน ความงามในเรื่องการเจียระไนเป็นการพิจารณาถึงผีมือของช่างเจียระไนว่าจะสามารถเจียระไนอัญมณีด้วยความประณีตได้ดีเพียงใด ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งหน้าพลอยเพื่อให้ได้สีสันที่สวยงามภายหลังการเจียระไนเสร็จแล้วต้องมีศิลปะในการกำหนดรูปร่างรูปทรงเพื่อให้ดูงดงามสมส่วน ต้องหลบเลี่ยงไม่ให้เห็นตำหนิ หรือให้เห็นน้อยที่สุด และต้องมีการคิดคำนวณเพื่อให้เสียน้ำหนักในการเจียระไนให้น้อยที่สุด
รูปทรง (Shape): เป็นการพิจารณาว่าเจียระไนได้รูปทรงสวยงามเพียงใด
สัดส่วน (Proportion): เป็นการพิจารณาว่าอัญมณีมีการเจียรระไนได้สัดส่วนสวยงามไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดของเหลี่ยม, อัตราส่วนของคราวน์กับพาวิเลี่ยน, อัตราส่วนความยาวต่อความกว้างและขนาดเหลี่ยมหน้ากระดาน รวมทั้งการเจียระไนให้ได้สัดส่วนที่ดีจะทำให้อัญมณีสามารถสะท้อนประกายได้อย่างเต็มที่และทำให้ได้อัญมณีที่มีความสมดุลของรูปร่างทั่วทั้งด้านหน้า
ความประณีต (Finish): จะพิจารณาความเรียบร้อยของการเจียระไนในเรื่องของมุมที่จรดกัน การชักเงาตามเหลี่ยมมุมต่างๆ
ประกาย (Brilliancy): เป็นการพิจารณาปริมาณของประกายที่ส่องสะท้อนออกมาจากอัญมณี
การพิจารณาในเรื่องน้ำหนัก (Carat Wight)
ผลึกของอัญมณีแต่ละชนิดมีขนาดที่แตกต่างกัน อัญมณีบางชนิดมีผลึกขนาดใหญ่ทำให้สามารถเจียระไนเป็นรูปทรงต่างๆ ให้มีขนาดใหญ่ (10 มม.ขึ้นไป) ได้ง่าย เช่น โทแพซ, แอเมทิสต์, ซิทริน, โกเมน, หยก, คาลซีโดนี, ควอตซ์สีควันไฟ, อำพัน เป็นต้น
หน่วยชั่งน้ำหนักอัญมณีเป็นกะรัต (Carat) น้ำหนักกะรัตมาจากการค้าขายอัญมณีแต่โบราณ โดยการเทียบน้ำหนักกับเมล็ดพืชของแอฟริการ (The African CoralTree) หรือเมล็ดของถั่วชนิดหนึ่ง “the Carob bean”
ตั้งแต่คริสตศักราชที่ 1907 ทางยุโรปได้กำหนดให้ 1 กะรัต เท่ากับ 200 มิลลิกรัม หรือ 0.2 กรัม แต่เนื่องจากเป็นหน่วยที่หยาบเกินไปสำหรับการชั่ง น้ำหนักเพชร จึงได้กำหนดหน่วยให้ละเอียดขึ้น โดยกำหนดให้ 1 กะรัตเท่ากับ 100 สตางค์ (points)
หน่วยชั่งน้ำหนักเป็นกรัม (Gram) มักจะใช้สำหรับการชั่งน้ำหนักผลึกอัญมณีที่เป็นก้อนขนาดใหญ่หรือมีปริมาณมาก เช่น ลาพิส ลาซูลี, ไข่นกการเวก, หยกพม่า มาลาไคต์ เป็นต้น แต่สำหรับไข่มุก หากมีการชั่งน้ำหนักก็จะใช้หน่วยเป็นเกรน (Grain) โดยที่ 1 เกรนมีค่าเท่ากับ 0.05 กรัม หรือ 0.25 กะรัต ชาวญี่ปุ่นในอดีตจะชั่งน้ำหนักไข่มุกเป็นมอมเม (Momme) โดย 1 มอมเมมีค่าเท่ากับ 3.75 กรัม หรือ 18.75 กะรัต ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับทางยุโรปเป็นอย่างมาก ส่วนหน่วยอัญมณี (Measurement) จะใช้หน่วยมิลลิเมตรเป็นหลัก