หลักการคร่าวๆ ที่ใครต่อใครเขาใช้ในการดูคุณภาพเพชรกัน ได้แก่หลักการของสี่ซี (4C’s)

Color สี หรือ ที่บ้านเราเรียกติดปากกันว่า น้ำขาวเท่าไร อย่างคุณแม่อยากได้สักน้ำ 97 แต่เราเกรงใจว่าที่เจ้าบ่าวเอาสัก 95 จะดีไหมน๊า เอ…แล้วน้ำ 97 กับ 95 เป็นอย่างไรหนอ เขาดูกันจากตรงไหน แล้วเวลาใส่อยู่ที่นิ้วเราในงาน จะดูต่างกันแค่ไหน?

ตามธรรมชาติ เพชรมีทุกสี ตั้งแต่ขาวไร้สี น้ำตาล เหลือง เขียว ฟ้า ชมพู หรือแม้แต่แดง แต่สีที่ Top Hit ในหมู่ชาวคนมีคู่นั้นได้แก่ เพชรไร้สี (Colorless) หรือที่เกือบจะไร้สี (Near Colorless) ราคาค่างวดนั้น ยิ่งใสไร้สียิ่งแพง แล้วอย่างไรถึงเรียกใสไร้สี?

คุณลองวาดภาพว่ามีน้ำแข็งที่ทำจากน้ำบริสุทธิ์ใส่ในแก้วที่มีน้ำใสบริสุทธิ์ ภาพที่คุณมองเห็นของน้ำแข็งในแก้วตอนนี้ คือความใสอย่างเพชรที่คุณพอจะสังเกตได้ชัดก็แต่ขอบของรูปทรง

หากใสได้อย่างนี้ ถือว่าเพชรนั้นน้ำขาว 100% หรือที่ภาษาสากลเรียกว่า D Color (ให้ D เทียบเท่ากับ 100 แล้วไล่ไปจนถึง Z สุดทางของ Z เรียก เพชรสี หรือ Colored Diamond )

โดยทั่วไป น้ำขนาด 97-96-95-94 (G-H-I-J) อยู่ในช่วงยอดฮิต ทั้งในแง่ของราคา ความหายาก-ง่ายอีกทั้งยังใส่ตัวเรือนทั้งทอง และ ทองขาว ได้อย่างสวยงาม ในขณะที่น้ำระดับ 100-99-98 (D-E-F) หาได้ยากยิ่ง มูลค่าของพวกเธอก็สูงสมกับค่าของความหายากจริงๆ

Tip: วิธีดูสีเพชร

วางคว่ำหน้าเพชรบนกระดาษขาว เพื่อความชัดเจน ควรวางเพชรเทียบกันอย่างน้อยสองเม็ด 
เอียงกระดาษทำระดับกับสายตาประมาณ 45 องศา ภายใต้แสงไฟสีขาว

 

          Clarity ความสะอาด หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใครๆ ก็อยากได้สิ่งที่ดีที่สุดเสมอ แต่อย่างน้อยจุดเล็กๆ ภายในเพชรก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะจุดเหล่านั้นทำให้เราสามารถจดจำเพชรของเราได้ ไม่ต้องกังวลเวลาต้องพาพวกเธอไปฝากค้างคืนที่ไหน เพราะเราจะจำพวกเธอได้ ไม่สับสนกับของคนอื่น

เพชรก็เหมือนอย่างคนเรา เธอเติบโตมาจากหินใต้โลก ต้องเผชิญกับความกดดัน ความร้อน และ สารประกอบอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพวกเดียวกันมากมาย จึงยากที่จะหาที่สมบูรณ์แบบได้  ตำหนิภายใน หากไม่ใหญ่โตจนไปบังทางเดินของแสงที่จะส่องประกายเข้าตา กลับเป็น เอกลักษณ์ที่ทำให้คุณจำเธอได้ จะได้ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาเปลี่ยนเพชรของคุณในอนาคต

ปกติคำศัพท์ที่ใช้ในการบอกถึงความสะอาดของเพชร โดยเรียงลำดับตามมูลค่า ดังนี้

FL Flawless

IF Internally Flawless

VVS1 Very Very Slightly Included 1

VVS2 Very Very Slightly Included 2

VS1 Very Slightly Included 1

VS2 Very Slightly Included 2

SI1-3 Slightly Included 1-3

อ่านดูแล้วช่างยากต่อการเข้าใจจริงๆ ตัวเลขข้างท้าย ไม่ได้บอกถึงจำนวนตำหนิที่มี หากแต่บอกให้ทราบว่า “1” จะมองเห็นตำหนิได้ยากกว่า “2” ราคาค่าตัวของ VVS1 จึงแพงกว่า VVS2 และแพงกว่า VS1 และ VS2 ตามลำดับ

 

Cutting การเจียระไน แหวนเพชรจะเฉิดฉายอยู่บนนิ้วเจ้าสาวแค่ไหน จะส่องประกายสะดุดตาใครต่อใครหรือไม่ ก็ตรงนี้

เพชรที่ได้รับการเจียระไนที่ดีที่สุด คือเพชรที่สามารถส่องประกายแสงกลับคืนตาได้มากที่สุด

Tip : ลองเปรียบเทียบเพชรมากกว่าหนึ่งเม็ด โดยวางเพชรเทียบกันในคราวเดียว เม็ดที่สวยจับตาที่สุด มักมีการเจียระไนที่เด่นกว่าคนอื่นๆ - ว่ากันว่าเรื่องการดูและเลือกของสวยงามนั้น มักจะตามมากับสัญชาติญาณของความเป็นแม่ของผู้หญิง 

ลองมาดูหลักประกาศิต 2 ประการ ที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในการดูเพชรด้วยตัวคุณเอง

ประการแรก ให้ยึดหลักของความสมมาตร (Symmetry) สมมติว่า คุณสามารถพับครึ่งเพชรได้ เพชรที่มีเหลี่ยมการเจียระไนที่ดีนั้น เหลี่ยมมุมของแต่ละด้านจะสามารถวางทาบกันได้สนิท

ประการที่สอง เป็นการดูเพชรจากด้านข้างค่ะ สัดส่วนเพชรที่มีการเจียระไนที่ดีนั้น ไม่ใช่ 34-24-36 อย่างนางสาวไทย เพราะเราไม่ได้ดูเขาจากเส้นรอบวง แต่จะดูจากสัดส่วนการเปรียบเทียบระหว่าง ส่วนบนเทียบกับส่วนล่าง โดยมีเอว (ส่วนที่กว้างที่สุดของเพชรเมื่อดูด้านข้าง) เป็นจุดแบ่ง อัตราส่วนที่ดีที่สุดของส่วนบนต่อส่วนล่าง ควรอยู่ระหว่าง 1:2 ถึง 1:3

 

          Carat Weight น้ำหนัก ขนาดที่พอเหมาะกับรูปนิ้วของคุณจะทำให้คุณพกพาเธอไปไหนมาไหนด้วย ได้อย่างสบายใจ ไม่เป็นเป้าสายตามากจนเกินงาม เนื่องจากในขั้นตอนการเจียระไนเพชรจากก้อนดิบ มาเป็นเพชรที่มีเหลี่ยมเจียที่สวยงามนั้น เธอต้องเสียน้ำหนักตัวจากเดิมไปมากกว่าครึ่ง 

เมื่อคุณเริ่มทำการช้อปปิ้งแหวนหมั้นสักวง สิ่งที่คุณจะรับทราบจากการสำรวจก็คือ ราคาเพชรนั้นจะเป็นราคาต่อกะรัตเสมอ แถมเพชรที่มีน้ำหนักมากกว่ากันเท่าตัวนั้น ก็ไม่ได้มีราคาเป็นเท่าตัวตามน้ำหนัก  โดยมากราคาเพชรจะเป็นตามช่วงของน้ำหนักที่ลงท้ายด้วยเลข 0 หรือเลข 5 เช่น เพชรที่หนักระหว่าง 0.90 – 0.99 กะรัต จะมีช่วงระดับราคา ที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับเพชรที่หนักอยู่ระหว่าง 1.00-1.49 กะรัต

Visitors: 132,973