หลักการพิจารณาความงามแห่งอัญมณี

 

ความงดงามของอัญมณีที่ผ่านการเจียระไน

ตามหลักสากลจะพิจารณาถึงองค์ประกอบ 4 ประการ

หรือ 4C คือ Color (สี), Clarity (ความสะอาด),

Cutting (การเจียระไน), Carat Weight (น้ำหนัก)

การพิจารณาในเรื่องสี (Color)

เฉดสี (Hue) หมายถึง ลักษณะของสีที่ปรากฏให้เห็น เช่น ทับทิม มีเฉดสีแดง, แดงอมม่วง, แดงอมส้ม, แดงอมชมพู, ไพลินมีเฉดสีน้ำเงิน, น้ำเงินอมเขียว, น้ำเงินอมเทา เป็นต้น ความงามของเฉดสีขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

โทนสี (Tone) ความเข้มและความอ่อนของสีอัญมณีทำให้อัญมณีดูมืดหรือดูสว่าง โดยปกติแล้วอัญมณีที่มีโทนสีเข้มและโทนสีปานกลาง จะมีมูลค่ามากกกว่าอัญมณีที่มีโทนสีเข้มจนมืดดำ หรือที่มีโทนสีอ่อนจนขาว เช่น โทนสีน้ำเงินดำ, โทนสีน้ำเงิน, โทนสีฟ้า, โทนสีฟ้าอ่อน เป็นต้น

ความสดของสี (Saturation) อัญมณีที่มีความสดมากจะเป็นที่ต้องการมากกว่าอัญมณีที่มีสีซีด

ความสม่ำเสมอของสี (Zoning) อัญมณีที่มีสีเต็มทั่วทั้งเม็ดจึงจะถือว่ามีมูลค่าและเป็นที่ต้องการมากกว่าอัญมณีที่มีสีเป็นหย่อม

 

 

การพิจารณาในเรืองความสะอาด (Clarity)

        อัญมณีที่สวยงามมากจะต้องมองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ภายในเนื้ออัญมณีด้วยตาเปล่าหรือร่องรอยแตกบิ่นที่อยู่บริเวณผิวของอัญมณี

        ลักษณะตำหนิที่พบเห็นภายในอัญมณีโดยทั่วไป ซึ่งเป็นอัญมณีลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นสิ่งที่ทำให้นักอัญมณีศาสตร์สามารถใช้เป็นหลักฐานในการวิเคราะห์ว่าเป็นอัญมณีธรรมชาติ หรืออัญมณีสังเคราะห์ หรือัญมณีธรรมชาติที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ ได้แก่ ผลึกรูปทรงต่างๆ, ของเหลว, รอยแตกร้าวภายในถ้าอัญมณีมีตำหนิภายในมากก็จะทำให้ความสวยงามที่เกิดจากประกายแสงลดลง เพราะตำหนิเหล่านี้จะไปบดบังการสะท้อนของแสงภายในอัญมณี

        อัญมณีที่โดยธรรมชาติจะมีตำหนิภายในเป็นจำนวนมากโดยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ได้แก่ มรกต, ทับทิม, ทัวร์มาลีน, พลอยพรรณราย, ควอตซ์สีกุหลาบ, ฟลูออไรต์ ส่วนอัญมณีที่เหลือจะมองเห็นตำหนิภายในได้ก็โดยการมองผ่านเลนสำลังขยาย 10 เท่า

        ลักษณะตำหนิภายนอกที่อาจพบเห็น ได้แก่ รอยแตก, รอยบิ่น, รอยสึก, รู, ร่องรอยธรรมชาติ

 

 

การพิจารณาในเรืองการเจียระไน (Cutting)

        ผู้คนในสมัยโบราณเมื่อนำอัญมณีมาประดับสวมใส่ก็จะนำมาร้อยหรือตกแต่ง โดยจะไม่ได้มีการเจียระไนเหลี่ยมแต่อย่างใด เป็นเพียงผลึกอัญมณีที่มีสีสันรูปทรงและความเงาวาวตามธรรมชาติแต่ในปัจจุบันได้มีการนำผลึกอัญมณีมาทำการเจียระไนเพื่อให้ได้รูปทรงและเหลี่ยมมุมตามต้องจิตนาการ ก่อนจะนำมาประดับไว้บนตัวเรือนที่ทำจากโลหะมีค่า เช่น ทองคำ, แพลตินัมและเงิน ความงามในเรื่องการเจียระไนเป็นการพิจารณาถึงผีมือของช่างเจียระไนว่าจะสามารถเจียระไนอัญมณีด้วยความประณีตได้ดีเพียงใด ต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งหน้าพลอยเพื่อให้ได้สีสันที่สวยงามภายหลังการเจียระไนเสร็จแล้วต้องมีศิลปะในการกำหนดรูปร่างรูปทรงเพื่อให้ดูงดงามสมส่วน ต้องหลบเลี่ยงไม่ให้เห็นตำหนิ หรือให้เห็นน้อยที่สุด และต้องมีการคิดคำนวณเพื่อให้เสียน้ำหนักในการเจียระไนให้น้อยที่สุด

รูปทรง (Shape): เป็นการพิจารณาว่าเจียระไนได้รูปทรงสวยงามเพียงใด

สัดส่วน (Proportion): เป็นการพิจารณาว่าอัญมณีมีการเจียรระไนได้สัดส่วนสวยงามไม่ว่าจะเป็นเรื่องขนาดของเหลี่ยม, อัตราส่วนของคราวน์กับพาวิเลี่ยน, อัตราส่วนความยาวต่อความกว้างและขนาดเหลี่ยมหน้ากระดาน รวมทั้งการเจียระไนให้ได้สัดส่วนที่ดีจะทำให้อัญมณีสามารถสะท้อนประกายได้อย่างเต็มที่และทำให้ได้อัญมณีที่มีความสมดุลของรูปร่างทั่วทั้งด้านหน้า

ความประณีต (Finish): จะพิจารณาความเรียบร้อยของการเจียระไนในเรื่องของมุมที่จรดกัน การชักเงาตามเหลี่ยมมุมต่างๆ

ประกาย (Brilliancy): เป็นการพิจารณาปริมาณของประกายที่ส่องสะท้อนออกมาจากอัญมณี

 

 

การพิจารณาในเรื่องน้ำหนัก (Carat Wight)

        ผลึกของอัญมณีแต่ละชนิดมีขนาดที่แตกต่างกัน อัญมณีบางชนิดมีผลึกขนาดใหญ่ทำให้สามารถเจียระไนเป็นรูปทรงต่างๆ ให้มีขนาดใหญ่ (10  มม.ขึ้นไป)  ได้ง่าย เช่น โทแพซ, แอเมทิสต์, ซิทริน, โกเมน, หยก, คาลซีโดนี, ควอตซ์สีควันไฟ, อำพัน เป็นต้น

        หน่วยชั่งน้ำหนักอัญมณีเป็นกะรัต (Carat) น้ำหนักกะรัตมาจากการค้าขายอัญมณีแต่โบราณ โดยการเทียบน้ำหนักกับเมล็ดพืชของแอฟริการ (The African CoralTree) หรือเมล็ดของถั่วชนิดหนึ่ง “the Carob bean”

        ตั้งแต่คริสตศักราชที่ 1907 ทางยุโรปได้กำหนดให้ 1 กะรัต เท่ากับ 200 มิลลิกรัม หรือ 0.2 กรัม แต่เนื่องจากเป็นหน่วยที่หยาบเกินไปสำหรับการชั่ง น้ำหนักเพชร จึงได้กำหนดหน่วยให้ละเอียดขึ้น โดยกำหนดให้ 1 กะรัตเท่ากับ 100 สตางค์ (points)

        หน่วยชั่งน้ำหนักเป็นกรัม (Gram) มักจะใช้สำหรับการชั่งน้ำหนักผลึกอัญมณีที่เป็นก้อนขนาดใหญ่หรือมีปริมาณมาก เช่น ลาพิส ลาซูลี, ไข่นกการเวก, หยกพม่า มาลาไคต์ เป็นต้น แต่สำหรับไข่มุก หากมีการชั่งน้ำหนักก็จะใช้หน่วยเป็นเกรน (Grain) โดยที่ 1 เกรนมีค่าเท่ากับ 0.05 กรัม หรือ 0.25 กะรัต ชาวญี่ปุ่นในอดีตจะชั่งน้ำหนักไข่มุกเป็นมอมเม (Momme) โดย 1 มอมเมมีค่าเท่ากับ 3.75 กรัม หรือ 18.75 กะรัต ซึ่งสร้างความยุ่งยากให้กับทางยุโรปเป็นอย่างมาก ส่วนหน่วยอัญมณี (Measurement) จะใช้หน่วยมิลลิเมตรเป็นหลัก

 

Visitors: 136,279